บทความการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัย
กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม: แนวทางในการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการในระดับปฐมวัยที่สอดคล้องกับหลักการทำงานของสมอง
แนวทางการจัดประสบการณ์ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยกำหนดให้จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้ คำว่า “บูรณาการ” จึงเป็นคำที่คุ้นเคยสำหรับครู แต่อาจเกิดความเข้าใจที่สับสนว่าการบูรณาการเป็นการนำองค์ความรู้ต่างๆ มากองรวมกัน โดยทึกทักเหมารวมเอาไว้ด้วยกันอย่างไม่สามารถแยกแยะอะไรได้ และอ้างว่าให้เด็กทำกิจกรรม ทั้งๆ ที่ครูก็ไม่ชัดเจนว่าผสมผสานอะไรไว้ด้วยกัน
การบูรณาการถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งของการสอน รวมทั้งเป็นปรัชญาในการสอนที่นำเนื้อหาความรู้จากหลายวิชามาสัมพันธ์ที่จุดเดียวกัน (Focus) หรือหัวเรื่อง (Theme) เดียวกัน (วลัย พานิช, 2546) ทั้งนี้ วรนาท รักสกุลไทย (2548) ได้สรุปความหมายของการจัดประสบการณ์แบบ บูรณาการไว้ว่าเป็นการจัดประสบการณ์ที่นำความรู้ ความคิดรวบยอด ทักษะ และประสบการณ์สำคัญทั้งมวลที่ผู้เรียนจะได้รับในสาระการเรียนรู้ต่างๆ มาเชื่อมโยงผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างมีความหมาย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ซึ่งเป็นการขจัดความซ้ำซ้อน ความไม่สัมพันธ์ และความไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในระดับปฐมวัยศึกษา ซึ่งเน้นการพัฒนาโดยองค์รวม
เมื่อพิจารณาความหมายของการบูรณาการจะเห็นได้ว่าความรู้ ความคิด และประสบการณ์สำคัญต่างๆ นั้นต่างมีความสัมพันธ์กัน และหน่วยย่อยที่สัมพันธ์กันเหล่านี้เกิดการผสมผสานหลอมรวมจนเกิดเอกลักษณ์ใหม่ที่มีความเป็นหนึ่งเดียว
แนวทางหนึ่งในการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของการจัดประสบการณ์ในระดับปฐมวัย ซึ่งเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง และมีความสอดคล้องกับหลักการเรียนรู้ของสมอง คือ “กิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม” ซึ่งประกอบด้วย กิจกรรมเสรี กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมกลางแจ้ง และกิจกรรมเกมการศึกษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. กิจกรรมเสรี เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กเล่นกับสื่อและเครื่องเล่นอย่างอิสระตามมุมเล่น หรือมุมประสบการณ์ หรือศูนย์การเรียนที่จัดไว้ โดยให้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นได้อย่างเสรีตามความสนใจและความต้องการของเด็ก ทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม ลักษณะของการเล่นของเด็กมีหลายลักษณะ
2. กิจกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กได้แสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการโดยใช้ศิลปะ
3. กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ โดยใช้เสียงเพลง คำคล้องจอง เครื่องเคาะจังหวะ หรืออุปกรณ์อื่นๆมาประกอบการเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสริมให้เด็กเกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ เด็กวัยนี้ร่างกายกำลังอยู่ในระหว่างพัฒนา การใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายยังไม่ผสมผสานหรือประสานสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์
4. กิจกรรมเสริมประสบการณ์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เด็กได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ ฝึกการทำงานและอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ กิจกรรมที่จัดมุ่งฝึกให้เด็กได้มีโอกาสฟัง พูด สังเกต คิดแก้ปัญหา ใช้เหตุผล และฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยจัดกิจกรรมด้วยวิธีต่างๆ
5. กิจกรรมกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้มีโอกาสออกไปนอกห้องเรียนเพื่อออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างกายและแสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดความสนใจและความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก กิจกรรมกลางแจ้งที่ควรจัดให้เด็กได้เล่น
6. กิจกรรมเกมการศึกษา เป็นเกมการเล่นที่ช่วยพัฒนาสติปัญญา มีกฎเกณฑ์กติกาง่ายๆ เด็กสามารถเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มก็ได้ ช่วยให้เด็กรู้จักสังเกต คิดหาเหตุผล และเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสี รูปร่าง จำนวน ประเภท และความสัมพันธ์เกี่ยวกับพื้นที่/ระยะ เกมการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย
การให้เด็กเล่นเกมการศึกษาเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาสมองด้านการคิด เมื่อเซลส์สมองถูกกระตุ้นด้วยสัญญาณต่างๆ เกิดเป็นข้อมูลจำนวนมาก การคิดจะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลเหล่านั้นซึ่งจะกลายเป็นข้อมูลใหม่อีกชิ้นหนึ่งซึ่งซับซ้อนขึ้น การที่เด็กเล่นเกมการศึกษาจึงเป็นการกระตุ้นให้สมองได้จัดความสัมพันธ์ของข้อมูลที่มีอยู่เดิม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของข้อมูลแบบใหม่ เมื่อเกิดซ้ำๆ กัน ก็จะเกิดความคงตัวในวงจรร่างแหของเซลส์สมองนั่นเอง
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการจัดกิจกรรมหลัก 6 กิจกรรม เป็นกิจกรรมที่ครอบคลุมการพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ พัฒนากล้ามเนื้อเล็ก พัฒนาอารมณ์ จิตใจ และปลูกฝังคุณธรรม พัฒนาสังคมนิสัย พัฒนาการคิด พัฒนาภาษา และส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก เป็นการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการที่สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และหลักการทำงานของสมองอย่างชัดเจน แม้ว่าจะเป็นแนวทางการจัดประสบการณ์ที่มีมานานมากแล้วก็ตาม
หากครูจัดได้ถูกต้อง และครบถ้วนอย่างสม่ำเสมอย่อมนำไปสู่การทำให้เด็กกระตือรือร้นใฝ่รู้ใฝ่เรียน และเกิดแรงจูงใจในการเรียน เด็กได้รับการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ครบทุกด้าน ช่วยเกิดการพัฒนาแบบองค์รวม ทั้งสาระการเรียนรู้ ทักษะ และประสบการณ์สำคัญ ช่วยเพิ่มพูนความสามารถในการจำ การคิด และการแก้ปัญหา และช่วยให้เด็กมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ รวมทั้งคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป เด็กจะสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยความรู้นั้นเป็นความรู้ที่คงทนไม่ลบเลือนไปโดยง่าย
การออกแบบแผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
การจัดประสบการณ์ให้เด็กได้พัฒนาครบทุกด้าน บรรลุจุดมุ่งหมายตามหลักสูตรนั้น ครูจำเป็นต้องวางแผนการจัดประสบการณ์ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมร่วมกับเด็กได้อย่างเหมาะสม และบรรลุผลตามจุดหมายที่กำหนด
การเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดประโยชน์กับเด็กปฐมวัยอย่างเต็มที่ ครูจะต้องสามารถตอบคำถามพื้นฐานต่อไปนี้
1. วางแผนการจัดประสบการณ์สำหรับใคร ครูต้องรู้จักเด็กที่ตนเองรับผิดชอบ รู้พัฒนาการตามวัย ความสนใจ ความถนัด ความสามารถ รวมทั้งรู้ว่าควรปรับปรุงและพัฒนาเด็กคนใดในเรื่องใดบ้าง
2. ต้องการให้เด็กเรียนรู้อะไร ครูต้องรู้จุดหมายของการจัดประสบการณ์ ครูจึงควรศึกษาก่อนว่าทักษะ สาระการเรียนรู้ หรือประสบการณ์สำคัญใดที่จะจัดให้กับเด็ก แล้วจึงวางแผนการจัดกิจกรรมต่อไป
3. เด็กจะเรียนรู้เรื่องที่ต้องการให้เรียนรู้ได้ดีที่สุดได้อย่างไร ครูต้องรู้จักคิดหาวิธีสอน และสื่อเพื่อช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
4. รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเกิดการเรียนรู้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ครูต้องรู้วิธีประเมินผล สร้างและใช้เครื่องมือประเมินพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม
เมื่อตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นแล้ว ครูสามารถนำคำตอบมาใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบการจัดประสบการณ์ ครูควรรวบรวมวัสดุอุปกรณ์และแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเขียนแผนการจัดประสบการณ์ตามแนวทางการจัดกิจกรรมหลักทั้ง 6 กิจกรรม ทั้งนี้ ครูอาจกำหนดกิจกรรมแต่ละหน่วยการเรียนไว้อย่างกว้างๆ ก่อน แล้วจึงเขียนแผนการจัดประสบการณ์ที่มีรายละเอียดที่ครอบคลุมจุดประสงค์ สาระการเรียนรู้ กิจกรรม สื่อ และการประเมินผล
สิ่งสำคัญที่ครูควรคำนึงถึงในการเขียนแผนการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยไม่ใช่รูปแบบการเขียนแผนการจัดประสบการณ์ เช่น การเขียนแบบตาราง แบบกึ่งตาราง หรือแบบความเรียง แต่ควรคำนึงถึงการออกแบบกิจกรรมตามหลักการทำงานของสมอง การจัดการจัดการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ และแนวทางการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ไม่ควรให้ความสำคัญกับการเขียนแผนการจัดประสบการณ์มากเกินกว่าการจัดประสบการณ์จริงสำหรับเด็ก แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้แผนการจัดประสบการณ์เป็นสิ่งที่ถูกละเลย เพราะแผนการจัดประสบการณ์ที่ดีย่อมนำไปสู่การสอนที่ดี และดีกว่าการจัดประสบการณ์โดยไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้าอย่างแน่นอน
เมื่อนำแผนการจัดประสบการณ์ไปใช้ในการจัดกิจกรรมประจำวันให้แก่เด็กปฐมวัย ครูควรให้ความสำคัญกับการสอนที่มีการการออกแบบการสอนไว้ล่วงหน้า พอๆ กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในสภาพจริงโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ หลังจากจัดประสบการณ์แล้วควรทำบันทึกหลังสอน โดยประเด็นที่ควรบันทึก ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ของเด็กตามจุดประสงค์ของการจัดประสบการณ์ การตอบสนองของผู้เรียนต่อการจัดประสบการณ์ ข้อสังเกตเกี่ยวกับสื่อ การออกแบบการจัดประสบการณ์ และลักษณะการเรียนรู้ของเด็ก แล้วนำผลที่บันทึกนี้มาใช้ในการปรับแผนการจัดประสบการณ์ในวันต่อๆ ไปให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ที่มาของข้อมูล : http://www.nareumon.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น